ประโยคในภาษาไทย
ประโยค คือ ถ้อยคำที่มีความเกี่ยวข้องกันถูกต้องตามระเบียบของภาษาและมีเนื้อความบริบูรณ์ ประกอบด้วยภาคประธานและภาคแสดง1. องค์ประกอบของประโยค คำที่นำมาเรียงกันจะเป็นประโยคได้ก็ต่อเมื่อมีภาคประธานและภาคแสดง นอกจากนี้ประโยคยังมีองค์ประกอบอื่นๆอีก
เช่น แมวเล่นในสวน แยกได้ แมว(ประธาน) เล่น(อกรรมกริยา) ในสวน(ขยายกริยา)
อารีขายผลไม้ทุกวัน แยกได้ อารี(ประธาน) ขาย(สกรรมกริยา) ผลไม้(กรรม) ทุกวัน(ขยายกริยา)
ภารโรงสมนึกเป็นคนดี แยกได้ ภารโรง(ประธาน) สมนึก(ขยายประธาน) เป็น(วิกตรรถกริยา) คนดี(ขยายกริยา)
2. รูปประโยคหลักของไทย มี 4 แบบ
2.1 ประโยคประธาน หมายถึงประโยคที่เอาผู้กระทำขึ้นต้นประโยค เช่น แดงเตะตะกร้อ
2.2 ประโยคกรรม หมายถึง ประโยคที่เอาผู้กระทำขึ้นต้นประโยค เช่น นักเรียนถูกครูตำหนิ
2.3 ประโยคกริยา หมายถึง ประโยคที่เอากริยา เกิด มี ปรากฏ ขึ้นต้นประโยค เช่น มีข้าวในนา
2.4 ประโยคการิต หมายถึง ประธานของประโยคประโยคกรรมมีผู้รับใช้แทรกเข้ามา เช่น คุณแม่ให้ฉันรดน้ำต้นไม้ (ประธานมีผู้รับใช้) หนังสือถูกครูให้นักเรียนอ่าน(กรรมมีผู้รับใช้) เพื่อนให้ฉันทำการบ้าน(ประธานมีผู้รับใช้)
3. การจำแนกประโยคตามเจตนาผู้ส่งสาร มี 4 ชนิด
3.1 ประโยคบอกเล่าหรือประโยคแจ้งให้ทราบ เช่น ธรรมะย่อมชนะอธรรม
3.2 ประโยคคำถาม จะมีคำที่แสดงคำถามกำกับอยู่ 2 ลักษณะ คือ ต้องการคำตอบที่เป็นเนื้อความ และต้องการเพียงการตอบรับหรือปฏิเสธเท่านั้น
3.3 ประโยคปฏิเสธ จะมีคำว่า ไม่ ประกอบอยู่เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีความหมายตรงกันข้ามกับประโยคบอกเล่า เช่น นิธิโรจน์ไม่ขี้เกียจเรียนหนังสือ วันนาไม่เคยกินส้มตำ
3.4 ประโยคคำสั่งและขอร้อง เป็นประโยคที่มีลักษณะสั่งให้ทำหรือขอร้องให้ปฏิบัติ ซึ่งสามารถละประธานไว้ได้ เพราะผู้ส่งสารและผู้รับสารต่างเข้าใจและทราบว่าสั่งหรือขอร้องใคร เช่น ห้ามเดินลัดสนาม โปรดทำความเคาระประธานในพิธี กรุณาถอดรองเท้าก่อนเข้าห้องเรียน
4. ชนิดของประโยค ชนิดของประโยคในภาษาไทยแบ่งตามลักษณะ เป็น 3 ชนิด คือ
4.1 ประโยคความเดียว(เอกรรถประโยค) คือ ประโยคที่มีใจความสำคัญเพียงหนึ่ง คือ มีประธานตัวเดียว กริยาสำคัญเพียงตัวเดียวและอาจมีกรรมหรือไม่มีก็ได้ โดยมีโครงสร้าง ประธาน+กริยา+(บทกรรม) เช่น เราเดินอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ซื้อปลาจากแหล่งเพาะพันธุ์ การเดินเป็นการออกกำลังกาย โปรดนั่งเงียบ เมื่อคืนนี้พายุพัดบ้านพัง
4.2 ประโยคความรวม(อเนกรรถประโยค) คือ ประโยคที่เกิดจากประโยคความเดียว ตั้งแต่ 2 ประโยคขึ้นไปมารวมกันโดยมีสันธานเป็นตัวเชื่อม โดยมีโครงสร้าง ประโยคความเดียว+สันธาน+ประโยคความเดียว ประโยคความรวมแบ่งเป็น 5 ชนิด
4.2.1 ประโยคความรวมเชื่อมความคล้อยตามกัน(อันวยาเนกรรถประโยค) ได้แก่ และ และแล้ว แล้วจึง...ก็ แล้ว...ก็ ทั้ง...และ กับ ครั้น...จึง เมื่อ....ก็
4.2.2 ประโยคความรวมเชื่อมความขัดแย้งกัน(พยติเรกาเนกรรถประโยค) ได้แก่ แต่ แต่ทว่า กว่า...ก็ แม้ว่า... แต่...ก็ ถึง....ก็
4.2.3 ประโยคความรวมเชื่อมความให้เลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง(วิกัลป์ปาเนกรรถประโยค) ได้แก่ หรือ หรือไม่ก็ มิฉะนั้น ไม่เช่นนั้น ไม่...ก็
4.2.4 ประโยคความรวมเชื่อมความเป็นเหตุเป็นผล(เหตวาเนกรรถประโยค) ได้แก่ จึง ดังนั้น...จึง ฉะนั้น...จึง เพราะฉะนั้น...จึง
4.3 ประโยคความซ้อน (สังกรประโยค) คือประโยคที่ประกอบด้วยประโยคหลักและประโยคย่อยซึ่งเป็นประโยคซ้อนอยู่ในประโยคหลัก โดยมีสันธานเป็นตัวเชื่อม
องค์ประกอบของประโยคความซ้อนมี 2 ชนิด คือ ประโยคหลัก(มุขยประโยค) คือ ประโยคที่เป็นใจความสำคัญของประโยคใหญ่ และประโยคย่อย(อนุประโยค) คือ ประโยคที่ทำหน้าที่ช่วยประโยคหลักให้มีใจความชัดเจนสมบูรณ์มากขึ้น โดยประโยคย่อยแบ่งเป็น 3 ชนิด
4.3.1 นามานุประโยค คือประโยคย่อยทำหน้าที่เหมือนคำนาม โดยจะทำหน้าที่เป็นบทประธาน บทกรรม และส่วนเติมเต็มของประโยคหลัก
4.3.2 คุณานุประโยค คือ ประโยคย่อยทำหน้าที่เหมือนวิเศษณ์ โดยจะทำหน้าที่ขยายคำนามหรือสรรพนาม ในส่วนที่เป็นประธานหรือเป็นกรรมของประโยคหลัก สันธานเชื่อมประโยค(เป็นประพันธสรรพนาม) คือ ที่ ซึ่ง อัน ผู้ ทำหน้าที่เชื่อมประโยคและแทนคำนามหรือสรรพนามที่อยู่ข้างหน้า
ปากกาที่วางบนโต๊ะซื้อมาจากญี่ปุ่น ประโยคหลัก ปากกาซื้อมาจากญี่ปุ่น
สันธาน ที่ (ประพันธสรรพนาม แทน ปากกา)
ประโยคย่อย ปากกาวางบนโต๊ะ(ทำหน้าที่ขยาย
คำนาม “ปากกา” ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานของประโยคหลัก
4.3.3 วิเศษณานุประโยค คือ ประโยคย่อยทำหนาที่เหมือนวิเศษณ์ โดยจะทำหน้าที่ขยายกริยาหรือวิเศษณ์ ในส่วนที่เป็นกริยาหรือวิเศษณ์ของประโยคหลัก สันธานเชื่อมประโยคได้แก่(ประพันธวิเศษณ์)ได้แก่ ที่ เมื่อ ระหว่างที่ ตั้งแต่ จนกระทั่ง เพราะ ตาม ราวกับ ขณะที่ โดย เป็นต้น ทำหน้าที่เชื่อมประโยค
การย่อความ
ปัจจุบันการย่อความเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน การศึกษาเล่าเรียนโดยที่เราไม่รู้สึกว่ากำลังย่อ เช่น การเล่าเรื่องจากการดูละคร ภาพยนตร์ หรือประสบการณ์ การบันทึกข้อความรู้ที่สำคัญจากการอ่านหนังสือ ตำรา เอกสารต่างๆ ดังนั้นการย่อความจะเกิดประสิทธิภาพได้จำเป็นต้องเข้าใจกระบวนการคิดในการย่อความและฝึกทักษะการย่อความสม่ำเสมอ
1. ความหมายของการย่อความ ย่อความ เป็นการเขียนประเภทหนึ่งโดยเนื้อความจะตัดทอนมาจากข้อความเดิม และให้มีใจความเหลือเฉพาะสาระสำคัญ มี 2 ลักษณะ คือ
1.1 ย่อความขนาดสั้น มีใจความเฉพาะสาระสำคัญที่สุด 1.2 ย่อความธรรมดา ประกอบด้วยในความและพลความ
(ใจความ หมายถึง ข้อความที่สำคัญที่สุดในการเขียนหรือบทพูดหากตัดออกจะสื่อสารไม่รู้เรื่อง ส่วนพลความ หมายถึง ข้อความที่สามารถตัดออกได้ การสื่อสารก็ยังสัมฤทธิผลตามความความมุ่งหมาย)
2. จุดมุ่งหมายและประโยชน์ของการย่อความ
การย่อความมีจุดมุ่งหมายเพื่อจับเนื้อเรื่องสำคัญของข้อความที่อ่านให้ได้อย่างถูกต้องบริบูรณ์ ตรงตามที่เขียนไว้ในต้นเรื่อง การฝึกฝนการย่อความอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสามารถและทักษะในการย่อความได้ดีอันจะเป็นประโยชน์หลายประการ ดังนี้
2.1 การย่อความเป็นวิธีหนึ่งที่ดีที่สุดในการศึกษาหาความรู้ ผู้ศึกษาจะบันทึกใจความย่อของเรื่องต่างๆเพื่อช่วยทั้งทางด้านความคิดและความจำ ส่งเสริมการอ่านและการเขียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.2 การย่อความช่วยให้การอ่านได้ผลดียิ่งขึ้น และยังทำให้เขียนได้ตรงจุดชัดเจนเข้าใจ หากเราอ่านไม่เข้าใจหรืออ่านไม่รอบคอบถี่ถ้วนเพียงพอ ก็จะตัดสินไม่ได้ว่าข้อความใดเป็นใจความสำคัญ ข้อความใดเป็นส่วนประกอบและส่วนขยาย ดังนั้นการอ่านอย่างเพ่งเล็ง รอบคอบ และจับใจความสำคัญให้ได้ จึงเป็นความจำเป็น ขั้นต่อมาผู้ฝึกฝนย่อ ก็จะใช้ภาษาของตนเองในการเขียนให้ตรงจุด ให้กระชับรัดกุมมีเนื้อหาเป็นแก่นแท้ คือ ใจความสำคัญเมื่อฝึกฝนตามวิธีการดังกล่าว จะช่วยเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการอ่านและการเขียนให้ดีขึ้น
2.3 การย่อความเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิชาอื่นๆ เช่น การเล่าเรื่อง การเขียนบันทึกย่อการเขียนจบข้อความในการเขียนเรียงความ การเขียนรายงานเชิงวิชาการและการเขียนคำตอบข้อสอบอัตนัย
2.4 การย่อความช่วยให้เกิดความรู้และความเข้าใจในการศึกษาถ้อยคำหรือบทความต่างๆ
2.5 การย่อความช่วยให้เป็นคนมีเหตุผล ไหวพริบ ทำงานด้วยความรอบคอบ
3. กระบวนการคิดในการย่อความ
3.1 วิเคราะห์เรื่องที่ย่อว่าเป็นงานเขียนชนิดใด เช่น บทความ นวนิยาย เรื่องสั้น ตำนาน ปาถกฐา บทร้อยกรอง พร้อมกับบอกเหตุผลด้วย
3.2 วิเคราะห์ว่าเนื้อความเป็นอย่างไร เช่น ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น หรือข้อแสดงอารมณ์ ผู้ย่อต้องแยกแยะให้ได้ว่า งานประพันธ์นั้นเริ่มเรื่องอย่างไร ดำเนินเรื่องอย่างไร และจบอย่างไร
3.3 ตีความวิเคราะห์ เพื่อหาจุดประสงค์ของผู้เขียน ในการตีความผู้ย่อความต้องใช้ความคิดจนสามารถจับใจความได้ว่า สารใดเป็นสารสำคัญที่สุดและสารใดเป็นสารรอง สามารถรับสารได้เพียงใด รวมทั้งร่วมรูสึกกับเจ้าของต้นเรื่องเพียงไร
3.4 หาใจความ เป็นการพิจารณาว่า ถ้าตัวข้อความใดออกแล้ว ความในต้นเรื่องจะเสียความหมด ข้อความนั้นก็เป็นใจความ จากนั้นนำใจความมาเรียงลำดับความความสำคัญก่อน โดยใช้ถ้อยคำของตนเองเป็นส่วนใหญ่ เพื่อสื่อความหมายให้ผู้อ่านรับสารได้ตามที่ตนต้องการ
4. ประเภทของการย่อความ การย่อความใช้ประโยชน์ได้หลายประการและหลายโอกาส เพื่อให้ใช้ได้ตามความเหมาะสมและความต้องการ จึงอาจแบ่งประเภทของการย่อความได้ 3 ประเภท คือ การย่อความ การสรุปความ และการเล่าเรื่องย่อ
4.1 การย่อความ เป็นการกล่าวข้อความอย่างกระชับ เฉพาะเนื้อหาที่สำคัญของข้อความเดิมที่นำมาย่อ ทั้งนี้อาจเป็นข้อเท็จจริง หรือเป็นความคิดของข้อความนั้นก็ได้
4.2 การสรุปความ เป็นวิธีการย่ออย่างสั้นที่สุด โดยกล่าวเพียงความคิดที่สำคัญเท่านั้น รวมถึงต้องเข้าใจและตีความทำนองการเขียนว่าเป็นแบบใด เช่น ทำนองสั่งสอน แนะนำ ตำหนิ กล่าวหา ตักเตือน ให้ปฏิเสธ ปฏิเสธ หรือเสนอเพื่อให้ผู้อ่านเลือก เป็นต้น
4.3 การเล่าเรื่องย่อ เป็นวิธีการย่ออีกแบบหนึ่ง ซึ่งกล่าวถึงเนื้อเรื่องอย่างสั้นๆโดยมีตัวละครและความสำคัญของเรื่องย่อ
ตัวอย่างแบบทดสอบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น