
บทพากย์เอราวัณ
๏ อินทรชิตบิดเบือนกายิน_________เหมือนองค์อมรินทร์
ทรงคชเอราวัณ
๏ ช้างนิมิตฤทธิแรงแข็งขัน________เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
๏ สามสิบสามเศียรโสภา_________เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดั่งเพชรรัตน์รูจี
๏ งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี ___________สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
๏ กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์_______ดอกหนึ่งแบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
๏ กลีบหนึ่งมีเทพธิดา____________เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล
๏ นางหนึ่งย่อมมีบริวาร__________อีกเจ็ดเยาวมาลย์
ล้วนรูปนิรมิตมายา
๏ จับระบำรำร่ายส่ายหา__________ชำเลืองหางตา
ทำทีดังเทพอัปสร
๏ มีวิมานแก้วงามบวร___________ทุกเกศกุญชร
ดังเวไชยันต์อมรินทร์
๏ เครื่องประดับเก้าแก้วโกมิน______ซองหางกระวิน
สร้อยสายชนักถักทอง
๏ ตาข่ายเพชรรัตน์ร้อยกรอง_______ผ้าทิพย์ปกตระพอง
ห้อยพู่ทุกหูคชสาร
๏ โลทันสารถีขุนมาร_____________เป็นเทพบุตรควาญ
ขับท้ายที่นั่งช้างทรง
๏ บรรดาโยธาจัตุรงค์____________เปลี่ยนแปลงกายคง
เป็นเทพไทเทวัญ
๏ ทัพหน้าอารักขไพรสัณฑ์_________ทัพหลังสุบรรณ
กินนรนาคนาคา
๏ ปีกซ้ายฤาษิตวิทยา____________คนธรรพ์ปีกขวา
ตั้งตามตำรับทัพชัย
๏ ล้วนถืออาวุธเกรียงไกร__________โตมรศรชัย
พระขรรค์คทาถ้วนตน
๏ ลอยฟ้ามาในเวหน_____________รีบเร่งรี้พล
มาถึงสมรภูมิชัย ฯ
๏ เมื่อนั้นจึงพระจักรี_________พอพระสุริย์ศรี
อรุณเรืองเมฆา
๏ ลมหวนอวลกลิ่นมาลา______เฟื่องฟุ้งวนา
นิวาสแถวแนวดง
๏ ผึ้งภู่หมู่คณาเหมหงส์______ร่อนราถาลง
แทรกไซ้ในสร้อยสุมาลี
๏ ดุเหว่าเร้าเร่งพระสุริย์ศรี____ไก่ขันปีกตี
กู่ก้องในท้องดงดาน
๏ ปักษาตื่นตาขันขาน_______หาคู่เคียงประสาน
สำเนียงเสนาะในไพร
๏ เดือนดาวดับเศร้าแสงใส____สร่างแสงอโณทัย
ก็ผ่านพยับรองเรือง
๏ จับฟ้าอากาศแลเหลือง______ธิบดินทร์เธอบรรเทือง
บรรทมฟื้นจากไสยา
๏ เสด็จทรงรถแก้วโกสีย์_______ไพโรจน์รูจี
จะแข่งซึ่งแสงสุริย์ใส
๏ เทียมสินธพอาชาไนย_______เริงร้องถวายชัย
ชันหูระเหิดหฤหรรษ์
๏ มาตลีสารถีเทวัญ__________กรกุมพระขรรค์
ขับรถมากลางจัตุรงค์
๏ เพลารอยพลอยประดับดุมวง___กึกก้องกำกง
กระทบกระทั่งธรณี
๏ มยุรฉัตรชุมสายพรายศรี_____พัดโบกพัชนี
กบี่ระบายโบกลม
๏ อึงอินทเภรีตีระงม__________แตรสังข์เสียงประสม
ประสานเสนาะในไพร
๏ เสียงพลโห่ร้องเอาชัย________เลื่อนลั่นสนั่นใน
พิภพเพียงทำลาย
๏ สัตภัณฑ์บรรพตทั้งหลาย_____อ่อนเอียงเพียงปลาย
ประนอมประนมชมชัย
๏ พสุธาอากาศหวาดไหว_______เนื้อนกตกใจ
ซุกซ่อนประหวั่นขวัญหนี
๏ ลูกครุฑพลัดตกฉิมพลี_______หัสดินอินทรี
คาบช้างก็วางไอยรา
๏ วานรสำแดงเดชา__________หักถอนพฤกษา
ถือต่างอาวุธยุทธยง
๏ ไม้ไหล้ยูงยางกลางดง_______แหลกลู่ล้มลง
ละเอียดด้วยฤทธิโยธี
๏ อากาศบดบังสุริย์ศรี_________เทวัญจันทรี
ทุกชั้นอำนวยอวยชัย
๏ บ้างเปิดแกลแก้วแววไว_______โปรยทิพมาลัย
ซ้องสาธุการบูชา
๏ ชักรถรี่เรื่อยเฉื่อยมา_________พุ่มบุษปมาลา
กงรถไม่จดธรณินทร์
๏ เร่งพลโยธาพานรินทร์________เร่งรัดหัสดิน
วานรให้เร่งรีบมา
๏ เมื่อนั้นพระศรีอนุชา__________เอื้อนอรรถวัจนา
ตรัสถามสุครีพขุนพล
๏ เหตุไฉนสหัสนัยน์เสด็จดล______สมรภูมิไพรสณฑ์
เธอมาด้วยกลอันใด
๏ สุครีพทูลทัดเฉลยไข__________ทุกทีสหัสนัยน์
เสด็จด้วยหมู่เทวา
๏ อวยชัยถวายทิพมาลา_________บัดนี้เธอมา
เห็นวิปริตดูฉงน
๏ ทรงเครื่องศัสตราแย่งยล_______ฤๅจะกลับเป็นกล
ไปเข้าด้วยราพณ์อาธรรมม์
๏ พระผู้เรืองฤทธิแข็งขัน_________คอยดูสำคัญ
อย่าไว้พระทัยไพรี
๏ เมื่อนั้นอินทรชิตยักษี__________ตรัสสั่งเสนี
ให้จับระบำรำถวาย
๏ ให้องค์อนุชานารายณ์_________เคลิบเคลิ้มวรกาย
จะแผลงซึ่งศัสตรศรพล
๏ อินทรชิตสถิตเหนือเอรา_________วัณทอดทัศนา
เห็นองค์พระลักษณ์ฤทธิรงค์
๏ เคลิบเคลิ้มหฤทัยใหลหลง________จึงจับศรทรง
พรหมาสตร์อันเรืองเดชา
๏ ทูนเหนือเศียรเกล้ายักษา_________หมายองค์พระอนุชา
ก็แผลงสำแดงฤทธิรณ
๏ อากาศก้องโกลาหล____________โลกลั่นอึงอล
อำนาจสะท้านธรณี
๏ ศรเต็มไปทั่วราศี______________ต้ององค์อินทรีย์
พระลักษณ์ก็กลิ้งกลางพล
ถอดคำประพันธ์บทพากย์เอราวัณ
(เฉพาะตอนอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์)
(เฉพาะตอนอินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์)
อินทรชิตแปลงกายเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
ช้างเอราวัณอัน (การุณราช) เนรมิตขึ้นนั้นก็ทรงเรี่ยวแรงแกร่งกล้าน่าเกรงขาม ผิวพรรณสีเผือกผ่องประดุจสังข์อันเกลี้ยงเกลา
มี ๓๓ หัว หัวหนึ่งมี ๗ งา เปล่งประกายเรืองรองประดุจเพชรรัตน์
งาหนึ่งนั้นมีสระโบกขรณี ๗ สระ สระหนึ่งมีดอกบัว ๗ กอ กอหนึ่งมี ๗ ดอก แต่ละดอกครั้นบานแล้วนับได้ ๗ กลีบ แต่ละกลีบมีเทพธิดาที่สวยงามแน่งน้อยน่ารัก ๗ นาง แต่ละนางนั้นยังมีเทพธิดาบริวารอีก ๗ นาง ล้วนเป็นรูปอันมารนิรมิตขึ้นทั้งสิ้น ทั้งยังร่ายรำชม้ายชายตาทำทีดังนางฟ้าจริงๆ
อีกทั้งทุกหัวของช้างยังมีวิมานอันงดงาม ประดุจปราสาทเวไชยันต์ของท้าวอมรินทร์ เครื่องประดับอันมี ซองหาง กระวิน สายชนัก ล้วนถักร้อยด้วยสร้อยทอง ประดับโกมินล้อมแก้วนพเก้า ผ้าทิพย์ปกตระพองก็ร้อยประดับด้วยเพชร มีสายสร้อยห้อยเป็นพู่ลงทั่วทุกหูช้าง
ขุนมารโลทันซึ่งเป็นสารถีของอินทรชิตก็แปลงเป็นควาญท้ายช้าง
ทัพทั้ง ๔ เหล่า ต่างแปลงกายเป็นชาวฟ้าชาวสวรรค์ มีอารักขเทวดาและรุกขเทวดา (เทพารักษ์) เป็นทัพหน้า ครุฑ กินนร นาค เป็นทัพหลัง พวกฤาษีและวิทยาธร เป็นปีกซ้าย มีคนธรรพ์เป็นปีกขวา ตั้งทัพตามตำรับพิชัยสงคราม ถืออาวุธเกรียงไกรคือ หอก ธนู ดาบ กระบอง ครบมือ
แล้วเหาะเหินมาบนฟากฟ้า เคลื่อนพลเข้าสู่สมรภูมิ ฯ
บทพากย์เอราวัณ
ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ฉบัง 16 ใช้สำหรับเป็นคำพากย์หรือบทพากย์ในการแสดง หนังใหญ่และโขน
บทพากย์ที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ตอนนางลอย นาคบาศ เอราวัณ
บทพากย์เอราวัณนี้บรรยายลักษณะของช้างเอราวัณไว้อย่างพิสดารช้างนี้เป็นช้างทรง ของพระอินทร์ ช้างเอราวัณในตอนนี้เป็นช้างเอราวัณที่พวกฝ่ายอินทรชิต คือ การุณราช แปลงมาเป็นช้างเอราวัณลอยมาบนท้องฟ้า และเหล่ายักษ์แปลงตัวเป็นเทวดา ทำให้ฝ่ายทัพพระราม ยกเว้น หนุมาน เผลอตัวชมความงามด้วยเข้าใจว่าเป็นเหล่าเทวดาจริงๆ
อินทรชิต แปลงองค์เหมือนพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ช้างแปลงนี้ดูแข็งแรงและมีฤทธิ์ยิ่งผิวของช้างเอราวัณเป็นสีขาวเผือกผ่องสะอาดราวสีของสังข์และตัวใหญ่โต มีสามสิบสามเศียร แต่ละเศียรมี 7 งา ดุจเพชรสวยงามมาก ในแต่ละงา มีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีกอบัว 7 กอ กอบัวแต่ละกอมีดอกบัว 7 ดอก ในแต่ละดอกที่แบ่งบานนี้มีกลีบ 7 กลีบ กลีบแต่ละกลีบจะมีเทพธิดา 7 องค์ แต่ละองค์ล้วนรูปโฉมงดงามมาก เทพธิดา แต่ละองค์จะมีบริวารองค์ละ 7 คน ทั้งหมดนี้ล้วนนิมิตทั้งสิ้น นางเหล่านี้ฟ้อนระบำร่างรำชม้อยชม้ายตาดั่งนางฟ้านางสวรรค์ เศียรช้างแต่ละเศียรจะมีวิมานอยู่ วิมานนี้ดุจดั่งประสาทเวชยันต์ของพระอินทร์เครื่องประดับซองหางล้วนเป็นแก้วนพรัตน์พลอยสีแดงเข้ม กระวิน (ห่วงที่เกี่ยวสำหรับโยงสัปคับช้างเป็นสร้อยถักด้วยทอง) เครื่องแต่งหัวช้างเป็นตาข่ายเพชรรัตน์ส่วนที่เป็นตระพองคลุมด้วยผ้าทิพ ที่หูช้างห้อยพู่ทุกหู โลทันสารถี แปลงเป็นควาญช้างขับท้าย ช้างทรง บรรดาจตุรงคเสนา (ทหาร 4 เหล่า) ล้วนแปลงกายเป็นเทวดา ทัพหน้าเป็นอารักษ์เทวาผู้รักษาป่า ทัพหลังครุฑ กินนร นาค ปีกซ้ายเป็น ฤๅษี วิทยาธร ปีกขวาคนธรรพ์ จัดทัพ ตามตำราพิชัยสงครามแต่ละผู้ล้วนถืออาวุธทั้งหอก ศร พระขรรค์ คทากันถ้วนทั่ว
ลักษณะคำประพันธ์ กาพย์ฉบัง 16 ใช้สำหรับเป็นคำพากย์หรือบทพากย์ในการแสดง หนังใหญ่และโขน
บทพากย์ที่รัชกาลที่ 2 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ ได้แก่ ตอนนางลอย นาคบาศ เอราวัณ
บทพากย์เอราวัณนี้บรรยายลักษณะของช้างเอราวัณไว้อย่างพิสดารช้างนี้เป็นช้างทรง ของพระอินทร์ ช้างเอราวัณในตอนนี้เป็นช้างเอราวัณที่พวกฝ่ายอินทรชิต คือ การุณราช แปลงมาเป็นช้างเอราวัณลอยมาบนท้องฟ้า และเหล่ายักษ์แปลงตัวเป็นเทวดา ทำให้ฝ่ายทัพพระราม ยกเว้น หนุมาน เผลอตัวชมความงามด้วยเข้าใจว่าเป็นเหล่าเทวดาจริงๆ
อินทรชิต แปลงองค์เหมือนพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ช้างแปลงนี้ดูแข็งแรงและมีฤทธิ์ยิ่งผิวของช้างเอราวัณเป็นสีขาวเผือกผ่องสะอาดราวสีของสังข์และตัวใหญ่โต มีสามสิบสามเศียร แต่ละเศียรมี 7 งา ดุจเพชรสวยงามมาก ในแต่ละงา มีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีกอบัว 7 กอ กอบัวแต่ละกอมีดอกบัว 7 ดอก ในแต่ละดอกที่แบ่งบานนี้มีกลีบ 7 กลีบ กลีบแต่ละกลีบจะมีเทพธิดา 7 องค์ แต่ละองค์ล้วนรูปโฉมงดงามมาก เทพธิดา แต่ละองค์จะมีบริวารองค์ละ 7 คน ทั้งหมดนี้ล้วนนิมิตทั้งสิ้น นางเหล่านี้ฟ้อนระบำร่างรำชม้อยชม้ายตาดั่งนางฟ้านางสวรรค์ เศียรช้างแต่ละเศียรจะมีวิมานอยู่ วิมานนี้ดุจดั่งประสาทเวชยันต์ของพระอินทร์เครื่องประดับซองหางล้วนเป็นแก้วนพรัตน์พลอยสีแดงเข้ม กระวิน (ห่วงที่เกี่ยวสำหรับโยงสัปคับช้างเป็นสร้อยถักด้วยทอง) เครื่องแต่งหัวช้างเป็นตาข่ายเพชรรัตน์ส่วนที่เป็นตระพองคลุมด้วยผ้าทิพ ที่หูช้างห้อยพู่ทุกหู โลทันสารถี แปลงเป็นควาญช้างขับท้าย ช้างทรง บรรดาจตุรงคเสนา (ทหาร 4 เหล่า) ล้วนแปลงกายเป็นเทวดา ทัพหน้าเป็นอารักษ์เทวาผู้รักษาป่า ทัพหลังครุฑ กินนร นาค ปีกซ้ายเป็น ฤๅษี วิทยาธร ปีกขวาคนธรรพ์ จัดทัพ ตามตำราพิชัยสงครามแต่ละผู้ล้วนถืออาวุธทั้งหอก ศร พระขรรค์ คทากันถ้วนทั่ว
ความรู้ประกอบเรื่อง
อินทรชิต เป็นโอรสองค์โตของนางมณโฑกับทศกัณฐ์ เดิมชื่อ รณพักตร์ เป็นพี่นางสีดาและไพนาสุริยวงศ์ มีชายาชื่อนางสุวรรณกันยุมา มีโอรส 2 องค์ คือ ยามลิวัน และ กันยุเวก เมื่อเมื่ออายุ 14 ปี ไปเรียนวิชากับฤๅษีโคบุตร รู้พระเวทชื่อ “มหากาลอัคคี” คือ ถ้าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหมครบ 7 ปี จะมีฤทธิ์ยิ่ง เมื่อครบ 7 ปี พระอิศวรประทาน ศรพรหมาสตร์ และพระเวทให้แปลงเป็นพระอินทร์ได้ พระพรหมประทาน ศรนาคบาศ และให้พรว่าตายก็ให้ตายกลางอากาศ หากศีรษะตกพื้นโลกจะลุกไหม้ ด้วยไฟกัลป์ ต้องนำพานแก้วของพระพรหมมารับ พระนารายประทานศรวิษณุปาณัม ทศกัณฐ์ใช้ให้ไปปราบพระอินทร์ พระอินทร์แพ้ทิ้งจักรแก้วไว้ จึงนำมาถวายทศกัณฐ์ ทศกัณฐ์จึงตั้งชื่อ ให้ใหม่ว่า “อินทรชิต” แปลว่า “ผู้พิชิตพระอินทร์”
ในการทำศึกลงกา เมื่อกุมภกรรณตายแล้ว อินทรชิตเป็นแม่ทัพออกทำสงคราม หลายครั้ง ครั้งแรกรบกับพระลักษมณ์ไม่แพ้ไม่ชนะกัน ครั้งที่สองทำพิธีชุบศรนาคบาศ ถูก ชามพูวราช ทำลายพิธีออกรบกับพระลักษมณ์และพลวานรสลบทั้งกองทัพ ครั้งที่สามทำพิธีชุบศรพรหมมาสตร์ แต่ไม่สำเร็จ ทศกัณฐ์ส่งคนไปแจ้งเรื่องกำปั่นถูกฆ่าตายจึงทำลายพิธี อินทรชิตแปลงร่างเป็นพระอินทร์ไปในสนามรบ พระลักษมณ์มองเพลิน จึงแผลงศรพรหมาสตร์ ล้มสลบ หนุมานขึ้นหักคอช้างเอราวัณก็ถูกตีด้วยคันศรสลบไป ครั้งที่สี่ทำพิธีกุมภนิยาเพื่อชุบตัวเป็นกายสิทธิ์ ก่อนหลบไปทำพิธีทศกัณฐ์ให้สุขาจารแปลงเป็นสีดา อินทรชิตพาไปตัดหัว ให้พระลักษมณ์ดูกลางสนามรบ เพื่อลวงว่าสีดาตายแล้ว ให้พระรามยกทัพกลับ จากนั้นหลบไปทำพิธีกุมภนิยา พระลักษมณ์ตามไปทำลายพิธี และทำลายศรวิษณุปาณัม ศรนาคบาศ และศรพรหมาสตร์ อินทรชิตหนีเข้าเมือง ครั้งที่ห้ารบกันพระลักษมณ์ อินทรชิตรู้ตัวว่าไม่รอดแน่ ขอให้ทศกัณฐ์คืนนางสีดา ทศกัณฐ์ไม่ยอมประทาน ศรสุรกานต์ ให้ออกไปรบ อินทรชิตลาลูกเมีย แล้วออกรบ ถูกพระลักษมณ์ฆ่าด้วยศรพรหมาสตร์ องคต พี่ชายร่วมมารดาเดียวกัน ไปขอพานแว่นฟ้าจากพระพรหมมารองรับไม่ให้ศีรษะตกพื้น เพราะจะทำให้เกิดไฟไหม้โลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น